ReutersReuters

วิเคราะห์ผลกระทบจาก"ทรัมป์"ที่มีต่อตลาดการเงินโลกในพ.ย.

ลอนดอน--29 พ.ย.--รอยเตอร์

  • ตลาดการเงินทั่วโลกในเดือนพ.ย.ได้รับผลกระทบจาก Trump trades หรือการลงทุนตามการคาดการณ์ที่ว่า สินทรัพย์ใดบ้างที่อาจจะได้รับผลกระทบในทางบวกหรือลบจากนโยบายต่าง ๆ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยตลาดแรกที่ได้รับผลกระทบคือตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ โดยยูโรดิ่งลงมาแล้ว 2.88% จาก 1.0883 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นเดือนต.ค. สู่ 1.0570 ดอลลาร์ในวันนี้ หลังจากรูดลงแตะ 1.0333 ดอลลาร์ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2022 หรือจุดต่ำสุดรอบ 2 ปี โดยยูโรอาจจะปิดตลาดเดือนพ.ย.ด้วยการดิ่งลงรายเดือนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2022 ในขณะที่ยูโรได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงด้านภาษีศุลกากรของสหรัฐ, จากปัญหาทางการเมืองในฝรั่งเศสและเยอรมนี และจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในยูโรโซน ทางด้านนักวิเคราะห์คาดว่า ตลาดปริวรรตเงินตราที่มีขนาด 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อวันจะแกว่งตัวผันผวนต่อไป ในขณะที่นักลงทุนไม่แน่ใจว่า ยูโรจะดิ่งลงจนถึงระดับใด และไม่แน่ใจว่ามาตรการของนายทรัมป์จะช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ สกุลเงินอื่น ๆ แกว่งตัวผันผวนด้วยเช่นกันในเดือนพ.ย. โดยเปโซของเม็กซิโกดิ่งลง 2.09% จาก 20.012 เปโซต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นเดือนต.ค. สู่ 20.430 เปโซต่อดอลลาร์ในวันนี้ ส่วนปอนด์รูดลง 1.48% จาก 1.2899 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นเดือนต.ค. สู่ 1.2708 ดอลลาร์ในวันนี้ ทางด้านหยวนในตลาดต่างประเทศดิ่งลง 1.63% จาก 7.1211 หยวนต่อดอลลาร์ในช่วงสิ้นเดือนต.ค. สู่ 7.2370 หยวนต่อดอลลาร์ในวันนี้ โดยหยวนอาจจะปิดตลาดเดือนพ.ย.ด้วยการดิ่งลงรายเดือนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2023

  • ตลาดที่สองที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากนายทรัมป์ในเดือนพ.ย.คือตลาดบิทคอยน์ โดยบิทคอยน์พุ่งขึ้น 38% จาก 69,927 ดอลลาร์ในช่วงสิ้นเดือนต.ค. สู่ 96,380 ดอลลาร์ในวันนี้ หลังจากทะยานขึ้นแตะสถิติสูงสุดใหม่ที่ 99,830 ดอลลาร์ในวันที่ 22 พ.ย. โดยบิทคอยน์ได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังที่ว่า นายทรัมป์จะผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสกุลเงินคริปโต ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางรายมองว่า ถ้าหากบิทคอยน์สามารถพุ่งขึ้นแตะระดับ 100,000 ดอลลาร์ได้ในอนาคต สิ่งนี้ก็จะบ่งชี้ว่าบิทคอยน์ได้กลายเป็นการลงทุนกระแสหลักแล้ว โดยนายแดน โคทส์เวิร์ธ นักวิเคราะห์การลงทุนของบริษัทเอเจ เบลล์ระบุว่า "ถ้าหากบิทคอยน์ทะยานขึ้นเหนือระดับ 100,000 ดอลลาร์ ก็จะมีนักลงทุนจำนวนมากยิ่งขึ้นที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในบิทคอยน์" อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์รายอื่น ๆ มองว่า มีความเสี่ยงจากการเก็งกำไรมากเกินไป ซึ่งนั่นหมายความว่า เป็นเรื่องง่ายที่บิทคอยน์อาจจะดิ่งลงอย่างรุนแรงหลังจากพุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

  • ตลาดที่ 3 ที่ได้รับผลกระทบ คือหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐ โดยดัชนี Nasdaq 100 ที่ครอบคลุมหุ้นหลายตัวในกลุ่มนี้พุ่งขึ้นสูงมากในเดือนพ.ย. ในขณะที่หุ้นบริษัทเทสลาของนายอีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนนายทรัมป์พุ่งขึ้น 33% และหุ้นบริษัทเอ็นวิเดียที่เป็นผู้ผลิตชิปทะยานขึ้น 1.94% สู่ 135.34 ดอลลาร์ในเดือนพ.ย. ถึงแม้เอ็นวิเดียคาดการณ์ว่ายอดขายจะชะลอการเติบโต อย่างไรก็ดี ภาคเทคโนโลยีกำลังเผชิญกับความเสี่ยง เพราะว่าแผนภาษีศุลกากรของนายทรัมป์เป็นภัยคุกคามต่อห่วงโซ่อุปทาน และนักลงทุนก็กังวลกับการที่บริษัทศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์ อย่างเช่นไมโครซอฟท์, เมตา แพลตฟอร์มส์ และอะเมซอน ลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเงินจำนวนมากด้วย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การลงทุนที่มากเกินไป ทั้งนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศเตือนในสัปดาห์ที่แล้วว่า ตลาดทั่วโลกจะได้รับผลกระทบในทางลบ ถ้าหากเกิดภาวะฟองสบู่แตกใน AI และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลงอย่างรุนแรง

  • ตลาดที่ 4 ที่ได้รับผลกระทบคือหุ้นกลุ่มธนาคาร ในขณะที่นักลงทุนชื่นชอบหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐ แต่เทขายหุ้นกลุ่มธนาคารของยุโรป โดยดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารของสหรัฐพุ่งขึ้น 13% ในเดือนพ.ย. ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นรายเดือนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 1 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังที่ว่า นายทรัมป์จะผ่อนคลายกฎระเบียบ อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารของยุโรปดิ่งลง 5% ในเดือนพ.ย. โดยได้รับแรงกดดันจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจในยุโรป และความอ่อนแอดังกล่าวกระตุ้นการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารของยุโรปยังคงพุ่งขึ้นมาแล้ว 16% จากช่วงต้นปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ยังคงขายสุทธิหุ้นกลุ่มธนาคารของยุโรป ส่วนธนาคารดอยช์ แบงก์ระบุว่า ภาคธนาคารจำเป็นจะต้องปรับเพิ่มกิจกรรมที่คิดค่าธรรมเนียม ซึ่งรวมถึงการบริหารสินทรัพย์, การบริหารความมั่งคั่ง, การทำข้อตกลงทางธุรกิจ และวาณิชธนกิจ

  • ตลาดที่ 5 ที่ได้รับผลกระทบคือตลาดพันธบัตรรัฐบาล โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีขยับลงเล็กน้อยในเดือนพ.ย. โดยปรับลงจาก 4.284% ในช่วงสิ้นเดือนต.ค. สู่ 4.242% ในช่วงท้ายวันพุธ แต่อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้นมาแล้ว 0.60% นับตั้งแต่กลางเดือนก.ย. โดยได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในสหรัฐ, จากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และจากการคาดการณ์ที่ว่าจะมีการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ ทางด้านบริษัทแคปิตัล อิโคโนมิคส์คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอาจจะพุ่งขึ้นสู่ 4.5% ก่อนสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีประเภทอายุ 10 ปีดิ่งลงมาแล้ว 0.266% ในเดือนพ.ย. โดยดิ่งลงจาก 2.392% ในช่วงสิ้นเดือนต.ค. สู่ 2.126% ในช่วงท้ายวานนี้ ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงรายเดือนครั้งใหญ่ที่สุดในปี 2024 โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมนีได้รับแรงกดดันจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ, จากแผนการด้านภาษีศุลกากรของนายทรัมป์ และจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้น 0.115% ในเดือนพ.ย. โดยพุ่งขึ้นจาก 0.935% ในช่วงสิ้นเดือนต.ค. สู่ 1.050% ในวันนี้ ในขณะที่การดิ่งลงของเยนในช่วงหลังการเลือกตั้งสหรัฐกระตุ้นให้นักลงทุนคาดการณ์กันว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 18-19 ธ.ค.--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

Loggen Sie sich ein oder erstellen Sie ein fortwährend kostenloses Konto, um diese News lesen zu können

Weitere News von Reuters

Weitere Neuigkeiten